จิ้นผิงเหมย (Chin P’ing Mei) หรือ กิมปังบ๊วย วรรณกรรมจีนชั้นเยี่ยมที่ถึงพร้อมด้วยอรรถรสแห่งความรัก, ความขบขัน, ความสงสาร เศร้าโศก, ความโกรธ ผิดใจ เสียใจ, ความกล้าหาญ, ความสะดุ้งกลัว, ความเกลียด ขยะแขยง, ความตื่นเต้น อัศจรรย์ใจ และความสงบ บริสุทธิ์ เป็นนิยายที่มีเสน่ห์ ซึ่งมีเรื่องเพศเป็นสิ่งหล่อเลี้ยง และยังได้ฉาบทาฉายภาพของประชาชนทั่วไปในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวกับอาหาร เสื้อผ้าอาภรณ์ จารีตประเพณี ยารักษาโรค การละเล่น และพิธีศพ รวมทั้งได้บอกเล่าถึงพฤติกรรมอันสกปรกโสมมของขุนนางที่หิวกระหายสินบน สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมอันฟอนเฟะ เสื่อมโทรม ไร้จริยธรรมนั้นด้วย
“…หนังสือเล่มนั้น ดูดดึงความรู้สึกของข้าพเจ้าเหลือเกิน บัดนี้ ข้าพเจ้ากล้ากล่าวได้อย่างเต็มปากว่า เพราะความดื่มด่ำจากรสชาติของภาษา และความละมุนละไมตามเนื้อเรื่องของหนังสือเล่มนั้น—เล่มที่ข้าพเจ้าได้อ่าน—บัดนี้ ข้าพเจ้าหาระย่อต่อความตายแล้วไม่!...”
ยาขอบ หรือ โชติ แพร่พันธุ์ ผู้แปลพากย์ภาษาไทย รวมทั้งให้ชื่อเรื่องไทยว่า บุปผาในกุณฑีทอง