สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๔๙ รวบรวมบทความที่อาจารย์ชาตรีใช้เวลาเขียนขึ้นราวเจ็ดปี โดยส่วนใหญ่เป็นบทความที่เคยลงในคอลัมน์ "อ่าน arch" ของนิตยสาร อ่าน มาก่อน มีเป้าหมายหลักเพื่ออธิบายปรากฎการณ์สถาปัตยกรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างสัมพันธ์กับปัจจัยทางสัมคมการเมืองไทยช่วงหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 เช่น โครงการรื้อสร้างกลุ่มอาคารศาลฎีกาใหม่ รัฐสภาใหม่ การปรับปรุงและล้อมรั้วสนามหลวง การเผา central world โครงการลานแผ่นดินหัวถนนราชดำเนินกลาง รวมถึงโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์
"บทความหลายชิ้นที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้คือความพยายามของอาจารย์ชาตรีที่จะเผยให้เราเห็นถึงชุดคุณค่าและอุดมการณ์ที่แฝงอยู่ในศิลปะ สถาปัตยกรรม และพื้นที่ดังที่พบในงานของอาจารย์ชาตรีนั้น เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในวงวิชาการด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย ปฏิกิริยาเชิงปฏิเสธหรือกระทั่งต่อต้านบทวิเคราะห์เหล่านี้เป็นเรื่องที่คาดหวังได้ เนื่องจากคนจำนวนไม่น้อยคาดและคิดไม่ถึงว่าวัตถุวัฒนธรรมเหล่านี้จะมีความหมายอื่นที่นอกเหนือไปจากความงามและประโยชน์ใช้สอย สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นชิินกับแนวสัญศาสตร์ ผมเสนอว่าก่อนที่ท่านจะรีบปฏิเสธข้อเสนอต่าง ๆ ของหนังสือเล่มนี้ ขอให้ท่านละวางความเข้าใจเดิม ๆ ของท่านไว้ชั่วขณะ และติดตามอ่านบทวิเคราะห์ของอาจารย์ชาตรีไปจนจบกระบวนความ และท่านจะพบว่าข้อเสนอต่าง ๆ ของอาจารย์ชาตรีมีน้ำหนัก น่ารับฟังและควรค่าต่อการนำไปครุ่นคิดต่อทั้งสิ้น" -- บางส่วนจากคำนิยม โดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์